จริง หรือไม่น้ำขวดพลาสติกที่ตากแดดในรถ ดื่มแล้วเสี่ยงเป็นมะเร็ง
หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ว่าหากดื่มน้ำขวดพลาสติกที่ตากแดดในรถเป็นเวลานาน ๆ จะได้รับสารก่อมะเร็ง แต่จะเป็นเรื่องจริง หรือไม่ วันนี้ มี แคปปิตอล ได้ค้นหาคำตอบมาให้แล้ว
โดยทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการทดลองนำขวดน้ำดื่มทิ้งไว้ในรถที่จอดตากแดด และเมื่อนำน้ำมาตรวจสอบปรากฏว่า ไม่พบสารก่อมะเร็ง แต่มีความเป็นไปได้ที่จะพบเชื้อแบคทีเรียปะปนอยู่ในน้ำที่ถูกเปิดดื่มแล้ว และวางตากแดดในรถ เพราะขวดน้ำดื่มที่เปิดแล้วแต่ดื่มไม่หมด มีโอกาสเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคได้มากกว่า ดังนั้นน้ำดื่มที่เปิดแล้วควรดื่มให้หมดภายในวันเดียว หรือหากไม่ดื่มไม่หมดก็ควรทิ้ง ไม่ควรนำมาดื่มอีก และไม่ควรนำขวดน้ำกลับมาใช้ซ้ำเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนจากเชื้อแบคทีเรีย
สำหรับใครที่ยังกังวลว่ามีโอกาสได้รับสารไดออกซินที่แพร่ออกมาจากขวดน้ำพลาสติก(สารไดออกซินเป็นผลผลิตทางเคมีที่เกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์) เนื่องจากอากาศร้อนจัด สารก่อมะเร็งอาจเกิดจากขวดพลาสติกที่เมื่อถูกความร้อนจากแดดอาจละลายไปปนเปื้อนในน้ำนั้น ต้องบอกว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของขวดน้ำดื่มว่าต้องผลิตจากพลาสติกโพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต (PET) หรือขวดพลาสติกใสนั่นเอง (สามารถรู้ได้จากการสังเกตสัญลักษณ์ เบอร์ 1 และ PET บนขวด) พลาสติกเหล่านี้ไม่มีสารคลอรีน เป็นองค์ประกอบที่จะเป็นต้นกำเนิดของไดออกซิน หรือถึงแม้ว่าในพลาสติกชนิดอื่น เช่น พอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ แต่อุณหภูมิของน้ำในขวดไม่ได้สูงมากพอที่จะทำให้เกิดสารไดออกซินขึ้นมาได้ เนื่องจากการสร้างกลุ่มสารไดออกซินจากการเผาไหม้จะอยู่ในช่วงอุณหภูมิประมาณ 200-550 องศาเซลเซียส และจะเริ่มถูกทำลายเมื่ออุณหภูมิ 850 องศาเซลเซียสขึ้นไป และพลาสติกพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) นั้นก็ไม่นิยมใช้เพื่อบรรจุน้ำบริโภค ดังนั้นแม้ขวดน้ำจะตากแดดในรถนาน ๆ ก็ไม่ก่อให้เกิดอุณหภูมิที่สูงจนพลาสติกละลายได้ตามที่กังวล
โดยสำนักคุณภาพ และความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เคยทำการทดลองโดยซื้อตัวอย่างน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต พอลิพรอพิลีน พอลิคาร์บอเนต และพอลิไวนิลคลอไรด์ที่จำหน่ายในตลาดสด และซุปเปอร์มาเก็ต จำนวน 18 ยี่ห้อ และนำไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่มไดออกซิน จำนวน 17 ตัว และพีซีบี จำนวน 18 ตัว โดยใช้เทคนิคขั้นสูง Isotope Dilution และวัดปริมาณด้วยเครื่องมือ High Resolution Gas Chromatography/High Resolution Mass Spectrometry ผลการวิเคราะห์สรุปว่า ตรวจไม่พบ สารประกอบกลุ่มไดออกซิน และพีซีบีในทุกตัวอย่าง
สรุปได้ว่าการดื่มน้ำจากขวดน้ำพลาสติกที่ตากแดดในรถนั้นไม่ทำให้เป็นมะเร็ง และก็ไม่มีหลักฐานใดที่เชื่อถือได้อย่างเช่น งานวิจัย หรือการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าการดื่มน้ำจากขวดน้ำพลาสติกที่ตากแดดในรถจะก่อให้เกิดมะเร็งไม่ว่าชนิดใดก็ตาม แต่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่เปิดขวดแล้ว และวางทิ้งไว้ เนื่องจากเสี่ยงมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน เมื่อเปิดขวดน้ำดื่มแล้วควรดื่มให้หมดภายในวัน
อ้างอิงข้อมูล :
https://www.hfocus.org/content/2014/06/7329
https://www.js100.com/en/site/post_share/view/107659
โปรโมชันแท็กซี่ป้ายแดง คลิก >>https://www.meecapital.co.th/promotions/
มี แคปปิตอล ครบเครื่องเรื่องแท็กซี่
โทร : 093-035-0350-9
Line : https://lin.ee/0mWlEIu
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCN7oiEGS1RVJMuNaRDHR_aQ